วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

ดอยลังกาหลวง

ดอยลังกาหลวง  ผมได้ยินชื่อนี้จากเพื่อนนักแคมป์คนหนึ่งที่เจอกันบนผ้าห่มปก เขาบอกว่าดอยนี้สวยงามนักถ้ามีเวลาไปเที่ยวซะให้ได้เชียวรับรองว่าไม่ผิดหวัง  หลังจากนั้นผมจึงเริ่มค้นหาข้อมูลและได้ขึ้นไปเที่ยวดอยแห่งนี้เมื่อปี 2543 จึงได้ภาพสวยๆ และข้อมูลมาฝากกัน
ดอยลังกาหลวง เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติขุนแจ ครอบคลุมบริเวณรอยต่อ 3 จังหวัดคือเชียงราย - ลำปาง - เชียงใหม่ ติดเขตจังหวัดเชียงใหม่บริเวณพื้นที่ของอำเภอดอยสะเก็ดตามเส้นทางที่มุ่งไปยังจังหวัดเชียงราย  อุทยานแห่งชาติขุนแจมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ในส่วนของดอยลังกาหลวงมียอดดอยอื่นๆ ที่อยู่ในเส้นทางเดินป่าเส้นทางเดียวกันคือ ดอยผาโง้ม( 1,764 เมตร ) ,  ดอยลังกาน้อย( 1,600 เมตร )  และดอยลังกาหลวง( 2,031 เมตร ) เปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับดอยหลวงเชียงดาวที่มียอดดอยหลวงเชียงดาวสูงสุดและยังมียอดดอยอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายยอด ชื่อที่เรียกมาจากยอดดอยที่สูงที่สุด อย่างดอยลังกาหลวงนี้ก็เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขาแห่งนี้ มีความสูงถึง 2,031 เมตร สูงเป็นอันดับ 6 ของยอดเขาสูงเมืองไทย ลักษณะป่าจะเป็นป่าดิบเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์และยังเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำลาว
จุดเด่นของเส้นทางเดินป่าเส้นนี้คือ การเดินตามแนวสันดอยไปตลอดเส้นทางได้พบได้เห็นป่าสภาพต่างๆ มีทั้งป่าดิบเขา ป่าสน และทุ่งหญ้าบนดอยสูง ป่าที่นี่มีความหลากหลายทำให้นักเดินทางไม่รู้สึกเบื่อหน่าย  ตลอดเส้นทางเดินบนสันดอยจะมองเห็นภาพวิวที่สวยงาม ดอกไม้ก็มีมาก มีทั้งดอกกุหลาบขาวดอยลังกาที่มีลักษณะเฉพาะจะออกดอกสวยงามในฤดูหนาว ดอกหรีดมีเยอะมาก นอกจากนี้ยังมีดอกไม้สวยแปลกตาอีกหลายชนิด     ภาพซ้ายคือเส้นทางเดินสู่ดอยลังกาที่ท้าทาย เดินบนสันเขาเกือบตลอดเส้นทาง ชมวิวสวยได้ตลอดทาง






จุดที่น่าสนใจของดอยลังกา
ดอยลังกาหลวง มีจุดเด่นในเรื่องของเส้นทางเดินที่ท้าทายและยาวไกล แต่เป็นทางไกลที่ไม่น่าเบื่อหน่ายเพราะตลอดเส้นทางมีสภาพป่าที่แตกต่างกัน ตลอดจนภูมิประเทศที่ต่างกันในแต่ละดอยทำให้นักท่องเที่ยวตื่นตาตื่นใจไม่เบื่อหน่าย  นอกจากดอยลังกาจะมีสภาพป่าเป็นป่าดิบเขาแล้ว ดอยลังกายังมีป่าโบราณหรือป่าดึกดำบรรพ์อีกด้วย ท้ายของเส้นทางเดินที่ดอยลังกาน้อยสภาพป่าจะเปลี่ยนไปเป็นป่าสนเขา มีต้นสนคล้ายๆ ภูกระดึงแต่ว่าสนที่นี่จะขึ้นตามแนวหน้าผาดูน่าทึ่งมากกว่าที่อื่นๆ และท้าทายให้เราเดินเข้าไปชม






บนเส้นทางเดินป่าสายนี้ท่านสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกได้หลายจุด ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเราเดินอยู่บนสันดอย จุดพักแรมก็หลบเข้าไปบริเวณป่าในหุบเขาเบื้องล่าง เวลาจะชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกเพียงเดินขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  จุดชมพระอาทิตย์ที่น่าสนใจคือ บริเวณบนดอยผาโง้ม  บริเวณสันดอยก่อนถึงยอดดอยลังกาหลวง และบริเวณยอดดอยลังกาน้อย ที่สูงเด่นไม่มีต้นไม้มาบดบังทัศนียภาพ




นอกจากวิวสวยแล้ว ดอยลังกายังมีพรรณไม้ดอกสวยงามหลายชนิด ที่โดดเด่นก็คือ กุหลาบขาวดอยลังกา ดอกมีขนาดเล็ก สีสวยงาม จะเริ่มออกดอกตั้งแต่ฤดูหนาวไปจนถึงเดือนมีนาคม นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้อีกหลายชนิดซึ่งจะออกดอกในช่วงฤดูแล้ง ดอกหรีดดอยลังกามีมากบริเวณทุ่งโล่งบนสันดอย และยังมีดอกไม้สวยอีกหลายชนิดซึ่งสามารถพบเห็นได้ตลอดเส้นทางเดิน


การเดินทางไปยังดอยลังกาหลวง

รถยนต์ จากจังหวัดเชียงใหม่เดินทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 สายเชียงใหม่–เชียงราย ประมาณกิโมเมตรที่ 56 จะพบที่ทำการอุทยานแห่งชาติขุนแจซึ่งตั้งอยู่ติดกับถนนสายนี้ทางด้านขวามือ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 56 กิโลเมตร
 รถโดยสารประจำทาง
  •  จากเชียงใหม่ สามารถเดินทางได้โดยรถปรับอากาศและรถธรรมดาสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด-เชียงราย จากสถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่แห่งที่ 2 (อาเขต) หรือนั่งรถสองแถวเล็กสีเหลืองสายเชียงใหม่-เวียงป่าเป้า-ท่ารถถนนไทยวงศ์ ลงบริเวณกิโลเมตรที่ 56
  • จากเชียงราย สามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง และรถสองแถวเล็กซึ่งระยะทาง ห่างจากจังหวัดเชียงราย ระยะทาง 129 กิโลเมตร

กิจกรรมที่น่าสนใจในดอยลังกาหลวง

เดินป่าระยะไกล ในเส้นทางสันดอย ใช้เวลาประมาณ 4 วัน 3 คืน
สิ่งน่าสนใจอื่นๆในดอยลังกาหลวง
  • ยอดดอยลังกาหลวง
  • ยอดดอยลังกาน้อย
  • ยอดดอยผาโง้ม


ช่วงเวลา สำหรับการมาท่องเที่ยวดอยลังกาหลวง
ช่วงเวลาที่เหมาะท่องเที่ยวคือเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม
คำแนะนำในการท่องเที่ยว
  • การเดินป่าในอุทยานแห่งชาติขุนแจ ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางหากต้องการพักค้างแรมต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับค้างแรมมาเองช่วงเวลาที่เหมาะท่องเที่ยวคือเดือนพฤศจิกายน-มีนาคมผู้สนใจจะเดินป่าและพักค้างแรมติดต่อทำหนังสือล่วงหน้า 15 วันก่อนเดินทางสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติขุนแจ ตำบลแม่เจดีย์ใหม่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 57260 โทร. 0 5322 8634
  • สิ่งสำคัญที่สุดคือ  ทุกๆคนต้องเตรียมใจที่เปิดกว้าง พร้อมรับความสมหวังหรือผิดหวังได้ทุกรูปแบบ   เพราะถ้าคาดหวังมากอาจผิด หวังมากได้เช่นกัน แต่ถ้าคาดหวังน้อยเราอาจสมหวังได้มากกว่าเช่นกัน

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

อุทยานแห่งชาติขุนแจ
ต.แม่เจดีย์ใหม่  อ. เวียงป่าเป้า  จ. เชียงราย   57260
โทรศัพท์ โทร. 0 5322 8634 ,0 5316 3364 (VoIP) , 0844892173   โทรสาร 0 5316 3364 (VoIP)  


ดอยม่อนจอง

ดอยม่อนจอง   


เป็นดอยสวยมากๆ อีกดอยหนึ่งที่นักท่องเที่ยวมักจะไม่ค่อยรู้จัก  บางคนได้เคยได้ยินได้ฟังมาบ้างเกี่ยวกับดอยม่อนจองว่าที่นี่เป็นแหล่งที่อยู่ของเลียงผา กวางผา  ดอยม่อนจองไม่ใช่อุทยานแห่งชาติเป็นเพียงเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าสังกัดอยู่กับเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าออมก๋อย ผืนป่าดอยม่อนจองเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำปิงที่ไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล ในด้านการท่องเที่ยว ดอยม่อนจองเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม บนเส้นทางเดินบนสันดอยไปสู่ยอดสูงสุดกว่า 3 กิโลเมตรเป็นจุดชมวิวที่เปิดโล่ง  ทางด้านซ้ายเป็นหน้าผาสูงมองลงไปจะเห็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ทางด้านขวาเป็นป่าทึบซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และป่าทางด้านซ้ายนี้ยังมีพันธ์ไม้ที่สำคัญคือต้นกุหลาบพันปี มีขึ้นอยู่เป็นดงๆ แต่ละต้นมีขนาดใหญ่มากเรียกได้ว่าทีนี่เป็นแหล่งของกุหลาบพันปีที่สมบูรณ์มาก ในช่วงฤดูหนาวจะออกดอกสีแดงสะพรั่งงดงามยิ่งนัก เมื่อกุหลาบพันปีมีดอกก็จะเป็นจุดดึงดูดให้นกสวยงามนานาชนิดมารวมกันที่นี้เพื่อดูดกินน้ำหวาน นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวในช่วงเวลานี้ก็จะได้เห็นทั้งดอกกุหลาบพันปีและได้ดูนกสวยงามอีกด้วย










ที่ตั้ง ดอยม่อนจอง ตั้งอยู่กลางป่าลึกของผืนป่าอมก๋อย อยู่ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากอำเภอฮอด 145 กิโลเมตร  ทิศตะวันออกจรดกับเขื่อนภูมิพล ด้านทิศตะวันตกติดกับถนนสายอมก๋อย-บ้านแม่ตื่น  ทิศเหนือจรดกับพื้นที่อำเภอดอยเต่า  ด้านทิศใต้จรดกับลำห้วยแม่ตื่นที่ไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล  ลักษณะของดอยม่อนจองหากดูจากภาพถ่ายทางอากาศก็จะเห็นเป็นแนวหน้าผายาวเป็นแนวกว่า 3 กิโลเมตร  โดยมียอดดอยม่อนจอง ( ศรชี้) เป็นจุดสูงสุด จุดนี้มีชื่อเรียกว่าหัวสิงห์ เพราะมีลักษณะเหมือนหัวสิงโต  ดอยม่อนจองมีความสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของยอดดอยสูงของไทย บางตำราก็ว่าสูง 1,886 เมตร บ้างก็ว่า 1,929 เมตร ส่วนตัวเลขจริงๆ สูงเท่าไรกระผมก็ไม่รู้หรอกรู้แต่ว่าสวย  จากจุดกางเต็นท์พักแรมด้านซ้ายของภาพเมื่อเดินขึ้นยอดสูงสุดก็จะต้องเดินมาตามทางเดินบนสันเขา ( ดังภาพบน ) ระหว่างทางเดินขึ้นสู่ยอดหัวสิงห์จะเห็นวิวที่สวยงามมากๆ  ชมวิวแบบโล่งตลอดทางเดินทางยาวเหยียด  แล้วยิ่งในช่วงเช้าหากมีทะเลหมอกในหุบเขาเบื้องล่างก็จะยิ่งสวยงามมาก   บริเวณด้านทิศตะวันออกของสันดอยเป็นป่าทึบ เป็นต้นน้ำลำธาร นักท่องเที่ยวก็ได้อาศัยแหล่งน้ำจากลำธารเล็กๆ บนผืนป่าแห่งนี้ใช้หุงหาอาหาร



วิวสวยมากทุกมุมมอง วิวสันดอยสวย วิวเทือกเขาก็สวย วิวพระอาทิตย์ขึ้น ทะเลหมอก ก็สวย  วิวพระอาทิตย์ตกก็สวย นั่งชมวิวบนสันดอยก็สวย บนสันดอยเป็นจุดแนวปะทะของลมจึงทำให้ทุ่งหญ้ามีลักษณะเตี้ยๆ ดังที่เห็นในภาพ เหมาะที่จะมานั่งเล่นเพื่อรอชมพระอาทิตย์ตก หรือเอาเสื่อพับมาปูนอนเล่นในยามเย็นก็ได้บรรยากาศดีมาก ตอนกลางคืนก็เอาพลาสติกรองนั่งมาปูนอนดูดาว สุดยอดมาก 




ความหนาว  หากฟังข่าวการรายงานสภาพอากาสในช่วงฤดูหนาว หลายครั้งอาจจะได้ยินการรายงานอากาศว่า  อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ ... องศา ที่อำเภออมก๋อย ก็น่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะอมก๋อยเป็นเมืองอยู่กลางผืนป่าขนาดใหญ่ล้อมรอบไปด้วยขุนเขา  ที่อำเภออมก๋อยหนาวเท่าไร บนดอยม่อนจองหนาวกว่าหลายเท่า ทั้งนี้เพราะตัวอำเภออยู่ในพื้นที่ต่ำ ดอยม่อนจองเป็นภูเขาสูงจึงทำให้อุณหภูมิบนดอยม่อนจองหนาวมากๆ  แต่การนอนหนาวที่นี่เป็นความหนาวที่มีความสุขเพราะจุดกางเต็นท์อยู่ในหุบที่หลบลม


012




พืชพรรณและดอกไม้บนดอย ในช่วงเวลาฤดูหนาวจะมีดอกไม้บนสันดอยหลายชนิดออกดอกมีสีสันสวยงาม ชนิดของดอกไม้ที่นี่จะคล้ายกับที่ดอยเชียงดาว เช่นแอสเตอร์ดอย และอีกหลายชนิดที่ออกดอกในทุ่งหญ้า  สำหรับพรรณไม้หลักที่น่าสนใจคือกุหลาบพันปี บนดอยม่อนจองมีกุหลาบพันปีขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากและต้นค่อนข้างจะสมบูรณ์ กุหลาบพันปีจะออกดอกสะพรั่งในช่วงฤดูหนาว บางปีก็ออกเร็วบางปีก็ออกช้าขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละปี บางปีที่ฝนดีก็จะมีดอกเยอะและมีขนาดใหญ่ บางปีที่แห้งแล้งก็จะมีดอกไม่มากทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นไปของธรรมชาติ




011



สิ่งอำนวยความสะดวก   ที่นี่เป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าจึงไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ  มีแต่ป่ากับภูเขาและวิวสวยๆ นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะขึ้นไปเที่ยวจะต้องไปแบบแค้มปิ้ง เตรียมเต็นท์ไปเอง และเตรียมอาหารไปให้พร้อม


ช่วงเวลาท่องเที่ยว   ดอยม่อนจองเที่ยวได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ไปจนถึง 15 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะปิดไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้น เพราะว่า  
1. ช้างป่าเริ่มออกมาหากินบนสันดอย ที่นี่มีช้างอยู่เป็นจำนวนมาก บางครั้งเราอาจจะเห็นฝูงช้างจำนวนมากหากินอยู่ในทุ่งหญ้าหุบเขาเบื้องล่าง  แต่เมื่อถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ช้างในป่าเริ่มขึ้นมาหากินบนสันดอย  จึงไม่ปลอดภัยเป็นอย่างมากหากขึ้นไปเที่ยว  จึงปิด  ทั้งนี้จะปิดก่อนหรือไม่ก็ต้องสอบถามกับทางหน่วยฯ หากปีใดช้างขึ้นมาเร็วก็จะปิดเร็ว
2. ช่วงดังกล่าวป่าเริ่มแห้ง ทุ่งหญ้าบนสันดอยเริ่มแห้ง เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า  บนสันดอยมีทางเดินแคบๆ ริมหน้าผาหากเกิดไฟป่าจะทำให้หนีไม่ทัน
3. จะไปดูอะไรล่ะตอนนั้น  แห้งหมดแล้ว
แผนที่   ไม่ต้องใช้แผนที่เพราะว่าการขึ้นดอยจะต้องมีเจ้าหน้าที่นำอยู่แล้ว ไม่ต้องคิดอะไรมากเดินตามอย่างเดียว




ที่มา:http://www.tourdoi.com/doi/monjong/general.htm
        http://www.ezytrip.com/webboard/show.php?id=685

ดอยตุง

 พระตำหนักดอยตุง
• พระตำหนักดอยตุง นับไว่าเป็นบ้านหลังแรกของสมเด็จพระศรนครินทราบรมราชชนนี ที่สร้างขึ้นด้วยพระราชาทรัพย์ส่วนพระองค์พระองค์และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯได้พระราชทานแนวพระราชดำริ โดยเน้นความเรียบง่ายและการใช้ประโยชน์ได้ดี พระตำหนักดอยตุง เริ่มดำเนินการสร้างเมื่อพระองค์ท่านเจริญพระชนมายุได้ 88 พรรษา โดยมีพิธีลงเสาเอกซึ่งทางเหนือเรียกว่า พีธีปกเสาเฮือน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2530
พระตำหนักดอยตุง เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมล้านนา กับบ้านพื้นเมืองของสวิสเซอร์แลนด์ และบ้านไม้ซุง ตัวอาคารมีสองชั้นและชั้นลอย ที่ประทับชั้นบนแยกเป็นสี่ส่วน ทุกส่วนเชื่อมต่อกันเป็นอาคารหลังเดียวเสมอกับลานกว้างยอดเนินเขา ส่วนชั้นล่างจะเกาะอยู่ตามไหล่เนินเขา ลักษณะเด่นอยู่ที่กาแล และเชิงชายแกะสลักลายเมฆไหลรอบพระตำหนัก ภายในท้องพระโรงจะเห็นเพดานดาว ทำด้วยไม้สนแกะสลักเป็นกลุ่มดาวต่างๆ ล้อมรอบระบบสุริยะจักรวาล และที่เชิงบันได แกะเป็นตัวพยัญชนะไทยพร้อมภาพประกอบ ไม้ที่ใช้ตกแต่งภายในพระตำหนักส่วนใหญ่ เป็นไม้ลังใส่สินค้ามาจากต่างประเทศ ส่วนภายนอกพระตำหนักสดสวยสะพรั่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวนานาพันธุ์ที่สวยงามและสดชื่นตลอดปี





ดอยตุง - สวนแม่ฟ้าหลวง

• สวนแม่ฟ้าหลวง
• สวนแม่ฟ้าหลวง เป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535 บนพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ ใกล้กับพระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวงได้รับการออกแบบให้สวยงามตลอด 365 วัน แปลงไม้ดอกหลากหลายพันธ์นับหมื่นดอกถูกจัดแต่งหมุนเวียนให้สวยงามไม่ซ้ำกันทั้งสามฤดู ประกอบกับประติมากรรมเด็กยืนต่อตัวโดดเด่นอยู่กลางสวน ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า ความต่อเนื่อง อันตรงกับพระราชดำริของสมเด็จย่าที่ว่า ทำงานอะไรก็ตามจะสำเร็จได้ต้องมีความต่อเนื่อง
• สวนแม่ฟ้าหลวงได้รับรางวัล พาต้าโกลด์ อะวอร์ด (PATA GOLD AWARDS )ประจำปี 2536 ของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคแปซิฟิค ในนามของประเทศไทย ประเภทรางวัลการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
• ปัจจุบันสวนแม่ฟ้าหลวงได้ขยายพื้นที่เพิ่มอีก 13 ไร่ เป็นสวนหิน สวนน้ำ สวนปาล์ม และสวนไม้ประดับ รวมเนื้อที่สวนแม่ฟ้าหลวงทั้งหมดเป็น 25 ไร่

ดอยตุง - สวนแม่ฟ้าหลวง

• ดอยช้างมูบ
• ช้างมูบ เป็นชื่อดอยที่สูงที่สุดของเทือกเขานางนอนในโครงการพัฒนาดอยตุง เดิมเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มีทิวทัศน์โดยรอบที่งดงาม แต่ได้ถูกทำลายจากการทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกฝิ่น เมื่อครั้งสมเด็จย่าเสด็จมา ที่นี่เป็นเพียงภูเขาที่มีแต่หญ้าปกคลุม พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นความงดงามของพื้นที่นี้จึงมีพระประสงค์ที่จะฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ดังเดิม
• เมื่อปี พ.ศ.2535 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้สนองพระราชดำริ สร้างสวนรุกชาติบนพื้นที่ 250 ไร่บนดอยช้างมูบนี้ โดยรวบรวมพันธุ์ไม้พื้นเมืองและพันธุ์ไม้ป่าหายาก จากแหล่งต่างๆไว้เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือ ต้นกุหลาบพันปี ที่พบในภูเขาสูงของไทย พม่าและจีน โดยเฉพาะต้นที่มีดอกสีแดงที่ทรงโปรด นอกจกนั้นยังมีต้นนางพญาเสือโคร่ง ไม้หัวที่ให้ดอกออกใบหลากสีตลอดปี
• สวนรุกชาติแม่ฟ้าหลวง มีทางเดินลัดเลาะไปตามไหล่เขาสำหรับชมต้นไม้ดอกไม้ มีลานปิคนิค ศาลานั่งพักผ่อน มีระเบียงชมวิวซึ่งมองเห็นดินแดนพม่า แม่น้ำโขง ไปจนถึงฝั่งลาว และน้ำผุดที่มีชื่อว่า น้ำพระทัย อันหมายถึงน้ำพระทัยของสมเด็จย่า ที่หลั่งรินไม่เหือดแห้งสู่ราษฏรผู้ยากไร้ เหมือน้ำจากยอดดอยที่ไหลสู่ที่ราบอย่างไร้พรหมแดน






• ผลิตภัณฑ์งานเกษตร
• เพื่อให้ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่มีอาชีพ และมีรายได้เลี้ยงตัว โครงการพัฒนาดอยตุงได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมขึ้น ฝึกอาชีพและสร้างงานให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆทางการเกษตรและนำไปประกอบอาชีพของตนเอง งานของศูนย์ส่งเสริมการเกษตร ได้แก่ งานเพาะเนื้อเยื่อ เห็ด กาแฟ ไม้ตัดดอกตัดใบ ไม้กระถาง ไม้ประดับจากต่างประเทศ ผลผลิตทางการเกษตรของดอยตุงมีคุณภาพดี เนื่องจากมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำเทคโนโลยีทางการเกษตรยุคใหม่มาใช้จนได้ผลิตที่มีมาตรฐานดีเป็นที่ยอมรับของตลาด




• ผลิตภัณฑ์งานฝีมือ
• ผ้าและพรหมทอกี่ ผู้หญิงในหมู่บ้านชาวเขาและชาวไทยใหญ่ มีความประณีตในงานทอผ้ากันเป็นส่วนใหญ่ โครงการฯได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาเสริมสร้างเทคนิคการทอผ้า เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ผ้าและพรหมทอกี่ที่มีคุณภาพและสีสัน เป็นที่ถูใจของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
• พรหมทอมือ ด้วยฝีมือแรงงานของหนุ่มสาวชาวบ้านบนดอยตุง ที่สามารถทอลวดลายตามแบบได้ทุกแบบเป็นผลผลิตคุณภาพ ที่ส่งจำหน่ายยังต่างประเทศได้
• กระดาษสา จากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่า นำมาปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ โดยนำเปลือกมาทำกระดาษสาด้วยขั้นตอนที่ประณีตจนมีสีสันและลวดลายต่างๆ เพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า
• กาแฟดอยตุง ต้นตำหรับกาแฟอาราบิกาเป็นส่วนหนึ่งของป่าเศรษฐกิจของโครงการดอยตุง ปลูกอยู่บนที่สูงมีคุณภาพดี เมื่อนำมาคั่ว จึงได้กาแฟที่มีรสชาติละเมียดอร่อย เป็นเอกลักษณ์ของดอยตุงและได้รับการยอมรับว่ารสชาติระดับมาตรฐานโลก




 


• สวนสัตว์ดอยตุง
• สวนสัตว์ดอยตุง เป็นสวนสัตว์เปิดบนเนื้อที่กว่า 200 ไร่ในโครงการพัฒนาดอยตุง จัดตั้งเพื่อเป็นสถานีเพาะเลี้ยง และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าเสื่อโทรมที่ถูกทำลาย ทำให้สัตว์ป่าอพยพย้ายถิ่นฐาน แต่ด้วยพระราชดำริของสมเด็จย่าในการฟื้นฟูสภาพป่า ทำให้ความอุดมสมบูรณ์กลับมาสู่พื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง สัตว์ต่างๆที่มีถิ่นฐานบริเวณนี้ เช่นไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง หมี กวาง เก้ง เนื้อทราย ที่หาดูได้ยากมาเลี้ยง และเปิดให้เข้าชมชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ต่างๆ ในสภาพธรรมชาติ


• ศูนย์ฝึกอาชีพผาหมี
• สมเด็จย่าได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดขึ้นที่บริเวณดอยผาหมีแห่งนี้ เพื่อทำการบำบัดรักษา ผู้ติดยาทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมทั้งฝึกฝนอาชีพควบคู่ไปด้วยเพื่อที่จะให้ผุ้เข้ารับการบำบัด สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเองเมื่อหายเป็นปรกติ ปัจจุบันศูนย์บำบัดฯดอยผาหมีได้กลายมาเป็นศูนย์ฝึกอาชีพอย่างเต็มตัว การฝึกฝนอาชีพที่นี่เป็นต้นกำเนิดของผลผลิตหลากหลาย ของโครงการดอยตุง เช่นเครื่องจักสาน ผักสดต่างๆ อันเนื่องมาจากการฝึกฝนอาชีพของอดีตผู้ติดยาเสพติดเหล่านั้น


• หมู่บ้านชาวเขา
• ในบริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง มีหมู่บ้าน 26 หมู่บ้านประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์ ได้แก่ ไทยใหญ่ จีนฮ่อ ชาวเขาเผ่าอาข่า และมูเซอ ปัจจุบันชาวบ้านเหล่านี้ ตั้งรกรากเป็นหลักแหล่ง มีถนนหนทางติดต่อกันโดยสะดวก แต่ละหมู่บ้านมีเอกลักษณ์และการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันไป ชาวบ้านเหล่านี้เข้ามาทำงานและฝึกอาชีพกับโครงการฯ ทำให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เขาเหล่านี้ก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของเผ่าไว้อย่างดี ทำให้มีพิธีงานฉลองประจำเผ่าที่สวยงามตลอดทั้งปี


ดอยตุง - สวนแม่ฟ้าหลวง 


• การเดินทางสู่ดอยตุง
• จากตัวเมืองเชียงราย ตามทางหลวงหมายเลข 10 (สายเชียงราย – แม่สาย) ประมาณ 48 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าดอยตุงที่หลักกิโลเมตรที่ 870 –871 บ้านสันกอง (สายใหม่)หรือแยกซ้ายเข้าดอยตุงที่ 871 –872 ตรงข้ามตู้ยามห้วยไคร้ (สายเก่า)ตามทางหลวงหมายเลข 1149 เส้นทางไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวบนดอยตุง สามารถเดินทางเป็นวงรอบสู่อำเภอแม่สายใต้ เป็นเส้นทางลาดยางขึ้นเขาคดเคี้ยวลัดเลาะไปตามภูมิประเทศที่สวยงาม



ที่มา:http://www.oceansmile.com/N/Chiarai/DoiTung.htm
        http://www.ezytrip.com/travelsearch/district_attract2.php?chk=637

ดอยหลวงเชียงดาว ดอยเชียงดาว


ข้อมูลทั่วไป ดอยหลวงเชียงดาว / ดอยเชียงดาว

ดอยหลวงเชียงดาว หรือ ดอยเชียงดาว เป็นภูเขาสูงอันดับ 3 ของประเทศด้วยความสูง 2,220 เมตร บางท่านก็ว่า 2,180 เมตร  บางท่านก็ว่า 2,300 เมตร ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าเท่าไรแน่ รู้เพียงว่าสูงเป็นอันดับที่ 3 แน่นอน ตั้งอยู่ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ทางทิศเหนือของเชียงใหม่ไปตามเส้นทางหลวงสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 72  หากนั่งรถผ่านไปตามเส้นทางดังกล่าวจะสังเกตเห็นเทือกเขาสูงชันทางด้านซ้ายมือนั่นล่ะคือดอยหลวงเชียงดาว
ดอยเชียงดาว


เทือกเชียงดาว มีสภาพเป็นยอดเขาสูงตั้งอยู่อย่างโดดเด่นด้านทิศตะวันออกติดกับทุ่งนาทางด้านทิศอื่นติดกับเทือกเขาที่ไม่สูงนัก บนเทือกเขาประกอบไปด้วยยอดเขาสูงหลายยอดที่สูงที่สุดคือยอดดอยหลวงเชียงดาวรองลงมาคือยอดปิรามิด,ดอยสามพี่น้อง,ดอยเหนือและยอดอื่นๆอีกหลายยอดที่ มีความสูงลดหลั่นกันไปซึ่งทั้งหมดนี้อยู่บนเทือกดอยเชียงดาวระหว่างยอดเขาต่างๆนั้นมีที่ราบกระจายตัวอยู่ทั่วไปซึ่งเรียกว่าอ่างสลุงซึ่งเป็นที่ราบ เหมือนท้องกระทะ สภาพป่าบนเทือกเขามีลักษณะเป็นป่าดิบเขากระจายตัวอยู่ทั่วไปในหุบเขาซึ่งเป็นที่อาศัยของนกจำนวนมากมีทั้งชนิดหาง่ายและหายาก ในบางช่วงของเส้นทางเดินจะต้องเดินผ่านป่าท่านจะได้ยินเสียงร้องให้บรรยากาศที่เป็นธรรมชาติจริงๆ นอกจากป่าดิบเขาจะเป็นที่อยู่ของนกต่างๆ แล้วยังเป็นที่เกาะอาศัยของมอส และกล้วยไม้ป่าอีกมากมายหลายชนิดซึ่งบางชนิดมีอยู่เฉพาะบนยอดดอยนี้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีต้นพญาเสือโคร่ง หรือ ซากุระเมืองไทยขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปช่วงที่มีดอกจะมองเห็นเป็นสีชมพูกระจายอยู่ทั่วไปในหุบเขา ตามข้างทางที่ต้องเดินผ่านไปก็ยังมีออกดอกสวยงามให้ชื่นชมขึ้นอยู่กับว่าการเดินทางจะตรงกับช่วงออกดอกหรือเปล่า


ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิสูงสุด 30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด - 7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ย 23 องศาเซลเซียส


จุดน่าสนใจบนดอยหลวงเชียงดาว
ดอยหลวงเชียงดาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม หลายท่านเคยไปมาแล้วยังต้องกลับไปอีกทั้งๆ ที่การเดินทางสู่เขาสูงแห่งนี้ค่อนข้างลำบาก ทั้งนี้เพราะบนดอยหลวงเชียงดาวมีความสวยงามหลายอย่างคือ
จุดเด่นที่สุดที่นี่มีทัศนียภาพที่งดงามหากท่านได้ไปยืนอยู่บนยอดดอยท่านจะพบกับความสวยงามทุกมุมมอง
ที่นี่มีความหนาวเย็นที่บางคนต้องการไปสัมผัสกับความหนาวเย็น รับรองว่าไปที่นี่ไม่ผิดหวัง
นกก็เยอะ เชียงดาวจึงมีกลุ่มนักดูนกขึ้นไปเยี่ยมกันอยู่บ่อยๆ 
มีดอกไม้เฉพาะถิ่นที่สวยงามและหากที่ไหนไม่ได้ ดอกกุหลาบขาวเชียงดาวก็สวย หรีดเชียงดาวก็เยอะ และยังมีอีกเยอะแยะสำหรับพรรณไม้ดอกบนดอยแห่งนี้ สวยแต่ไม่มากมายหวือหวาที่ออกดอกกันเป็นทุ่งๆ เหมือนทุ่งดอกกะเจียว
ดาวที่นี่สวย ถึงแม้ว่าเราอยู่ใต้ฟ้าเดียวกันแต่ก็แปลกว่าที่นี่ดาวสวย คงเป็นเพราะยอดดอยแห่งนี้สูงมากจึงทำให้มองเห็นดาวที่สดใส และไม่มีสิ่งอื่นๆ มาบดบังสายตา
ความสวยงามต่างๆ ชมได้จากภาพทริปเชียงดาวที่ผ่านๆ มา



การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ มุ่งสู่เชียงใหม่ จากเชียงใหม่ให้แยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 107   เส้นเชียงใหม่-ฝาง ผ่านแม่ริมขับต่อไปอีกประมาณ 76 กิโลเมตรจนถึงตัวเมืองเชียงดาว แยกซ้ายตามถนนลาดยางเข้าไปยังบ้านถ้ำใช้เส้นทางเดียวกับถนนที่ไปถ้ำเชียงดาว หากเดินทางโดยรถโดยสาร มีรถโดยสารผ่านสายกรุงเทพฯ-ฝาง  กรุงเทพฯ-เชียงดาว นอกจากรถ บขส แล้วยังมีรถสองแถวท้องถิ่นสายเชียงใหม่-ฝาง ผ่านด้วย  จากแยกเข้าบ้านถ้ำให้เช่ารถเข้าไประยะทาง 5 กม.
ที่บ้านถ้ำเป็นจุดเริ่มต้นของทริปขึ้นดอยหลวงเชียงดาว นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อคนนำทางและลูกหาบได้ที่นี่ แต่ในช่วงวันหยุดจะหาคนนำทางและลูกหาบยากเพราะติดงาน  จากบ้านถ้ำต้องตัดสินใจว่าจะไปเส้นทางไหนดี
เส้นทางเดินขึ้นดอย
มี 3 เส้นทาง คือ
1. สายเด่นหญ้าขัด  เป็นเส้นทางที่เดินสบายกว่าเส้นทางสายอื่นๆ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-6 ชม. การที่จะไปเริ่มต้นเดินที่หน่วยเด่นหญ้าขัดต้องติดต่อเช่ารถท้องถิ่นให้ขึ้นไปส่งที่หน่วยฯ จากนั้นจึงเริ่มเดินเท้าเข้าสู่ป่า ผ่านป่าสนตัดลงสู่ทุ่งหญ้าในอ่างสลุง เดินไปเรื่อยๆ ก็จะถึงตีนดอยหลวงเชียงดาว หากเดินไปแยกผิดทางก็จะลงไปยังหมู่บ้านนาเลา ท่านไม่ต้องกลัวหลงทางเพราะต่อจากนี้ไปทุกคณะที่จะขึ้นดอยหลวงเชียงดาวจะต้องมีคนนำทางนำขึ้นไปเพราะนี่เป็นกฏของทางเขตฯ เพื่อต้องการให้ชาวบ้านมีรายได้  เส้นทางสายเด่นหญ้าขัดเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้เดินกันมากที่สุดเพราะไม่โหด
2. สายนาเลา เป็นเส้นทางความโหดปานกลาง ต้องใช้รถขึ้นไปส่งเหมือนกัน ใช้เวลาเดินประมาณ 6 ชม. เส้นทางนี้แต่ก่อนนั้นเคยมีนักท่องเที่ยวใช้กันบ้างแต่น้อย เมื่อหลายปีก่อนผมพานักท่องเที่ยวขึ้นไป ปรากฏว่าทางปิด ผมต้องให้คนนำทางช่วยตัดทางขึ้นไป ตอนนั้นเถาวัลย์มีขนาดเท่านิ้วมือ สาเหตุที่คนใช้เส้นทางนี้กันน้อยเพราะว่าถนนที่รถจะขึ้นมาส่งยังจุดเริ่มเดินเป็นทางลูกรังที่เละเป็นหล่ม ทำให้ยากต่อการเดินทาง วันนี้เส้นทางสายนาเลาเป็นเส้นทางสะดวกที่นักท่องเที่ยวใช้ขึ้นดอยหลวงเพราะทางลูกรังที่ว่าได้เปลี่ยนไปเป็นถนนคอนกรีตแล้ว และที่ทางเก่าสายนี้ก็กำลังจะปิดอีกแล้วเพราะทางเขตฯ ได้เปิดเส้นทางใหม่โดยเริ่มจากหมู่บ้านชาวเขาเพื่อที่จะกระจายรายได้ไปยังชุมชน
3. เส้นทางสายบ้านถ้ำ ปัจจุบันห้ามขึ้นแต่ก็ยังมีเดินขึ้นกันเรื่อยๆ เป็นเส้นทางที่ตัดตรงจากบ้านถ้ำขึ้นสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาว เส้นทางสายนี้ขึ้นสวยลงไม่สวยเพราะตาลาย ใครจะขึ้นเส้นนี้ก็คิดให้ดีก่อน เวลาผมพานักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวจะใช้เส้นทางสายนาเลา เวลาผมขึ้นไปเที่ยวเองผมจะใช้เส้นทางสายบ้านถ้ำเพราะสะดวกดี เส้นทางก็สวย ดอกไม้ พรรณไม้ก็เยอะ ผมขึ้นเส้นทางนี้มา 5 ครั้ง แบกสัมภาระเองด้วย เหนื่อยแทบสลบ ตอนนี้ไม่ให้ขึ้นเส้นทางนี้แล้ว  ใช้เวลาเดินเร็วสุด 4 ชม  ปกติ 6 ชม เส้นทางนี้ปกติจะใช้เป็นเส้นทางเดินลงเพราะใกล้และตัดตรง ใช้เวลาเดินเร็วสุด 1 ชม. 50 นาที  ปกติ 3-4 ชม. ผิดปกติ 8-10 ชม. เคยลงช้าสุด 11 ชม.
จุดพักแรม  แต่ก่อนนั้นการพักแรมบนเทือกดอยเชียงดาวเป็นเรื่องที่คลาสสิกและโรแมนติกมาก คือว่าเมื่อเราเริ่มเดินไปอาจจะช้าบ้างเร็วบ้าง หากเดินช้าไม่ถึงจุดกางเต็นท์หลักๆ เราก็สามารถตั้งแคมป์พักแรมกันในป่า ระหว่างเส้นทางมักจะเห็นร่องรอยการพักแรมเป็นจุดๆ โดยเฉพาะจุดที่มีพื้นที่ราบ บางครั้งก็พักแรมที่ชายป่า ในหุบเขา  ถ้าขี้เกียจกางเต็นท์ก็ไปหานอนที่กระท่อมเฝ้าไร่ฝิ่นของชาวเขา  จุดกางเต็นท์จุดสุดท้ายคือที่อ่างสลุงเชิงดอยหลวงเชียงดาว
ตอนนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้แล้วเพราะดอยหลวงมีการจัดระเบียบกันใหม่เพื่อความเรียบร้อย ได้กำหนดจุดกางเต็นท์ไว้เป็นหลักๆ 2 จุดก่อนถึงและ 1 จุดที่เชิงดอย  ที่ดอยกิ่วลมห้ามขึ้นไปกางเต็นท์แล้วเพราะว่าข้างบนขาดแคลนไม้ที่ใช้ทำฟืน คนขึ้นไปตั้งแคมป์ข้างบนก็มักจะไปตัดไม้มาใช้งาน คนที่ตัดมากก็คือพวกลูกหาบและคนนำทางนี่แหล่ะ เขาตัดมาก่อกองไฟเพื่อให้ความอบอุ่น ตอนนี้จึงห้ามขึ้นไปตั้งแคมป์ข้างบนกิ่วลมแล้ว  นักท่องเที่ยวก็อย่างเพิ่งน้อยใจที่มาช้าอดขึ้นไปเที่ยว อันที่จริงพักในอ่างสลุงนั่นดีแล้วเพราะลมก็ไม่แรง ที่ราบก็เยอะ ไม่ต้องไปแย่งพื้นที่บนดอยกิ่วลมที่มีที่ราบแคบๆ ตอนที่อ่างสลุงใกล้ยอดสูงสุด พอตื่นเช้าขึ้นดอยสูงสุดได้สะดวกดี


สิ่งอำนวยความสะดวก
บนดอยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ไม่มีน้ำ ไม่มีร้านค้า ไม่มีบ้านพัก มีแต่ดอกไม้สวยๆ วิวสวยๆ น้ำและอาหารจะต้องจ้างลูกหาบแบกขึ้นไป
ค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียมเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ คนละ 20 บาท ค่าพักแรมคืนละ 30 บาทต่อคน
จะไปเที่ยวดอยหลวงเชียงดาว ทำไงดี
ก็ต้องตัดสินใจว่าจะไปเที่ยวกันเองโดยมีคนนำทาง แบกของเอง ทำอาหารกันเอง หรือ มีคนนำทาง มีลูกหาบ หรือจะไปซื้อทัวร์ที่นั่นให้นำขึ้นไป หรือจะซื้อทัวร์ไปจากกรุงเทพฯ  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละท่านแต่ละกลุ่ม
1. ไปเที่ยวกันเอง  ตอนนี้ค่าใช้จ่ายสูงหน่อยเพราะต้องมีคนนำทาง ( บังคับให้ใช้ ) ถ้าหากไปเดี่ยวหรือไปกันเพียงสองสามคนก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายสูงเพราะตัวหารน้อย  ถ้าตัดสินใจไปเที่ยวแบบนี้ก็ต้องเตรียมทีมให้พร้อม เลือกวิธีการเดินทางไปยังบ้านถ้ำ จะไปโดยขับรถยนต์ส่วนตัวไป หรือจะไปโดยรถทัวร์ปรับอากาศ หรือจะไปโดยรถ บขส หรือจะไปโดยรถโบก เลือกเอา ไปถึงตลาดเชียงดาวหาเช่ารถให้ไปส่งที่บ้านถ้ำ ติดต่อหาคนนำทางและลูกหาบที่นั่น  ช่วงฤดูหนาวมีคนไปเที่ยวดอยกันมากมักจะขาดแคลนลูกหาบ บางครั้งผมก็ต้องใช้ลูกหาบที่เป็นชาวต่างประเทศ ( ไทยใหญ่ )
2. ไปเที่ยวกับทัวร์ท้องถิ่น  ที่บ้านถ้ำมีทัวร์ท้องถิ่นพาขึ้นดอยหลวงหลายคณะ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถูกบ้าง แพงบ้าง เลือกเอาตามความชอบใจเลยครับ ราคาขึ้นอยู่กับว่าคณะไหน  ล่าสุดปีนี้ค่าทัวร์ปกติคนละ 2,200 บาทต่อคณะ 8 ท่าน บางทัวร์ก็ 2,500 บาท บางทัวร์ก็ 1,800 บาท
3. ซื้อทัวร์ไปจากกรุงเทพฯ  ก็มีหลายทัวร์ให้เลือก ทั้งบริษัททัวร์ขนาดใหญ่ ทัวร์ขนาดเล็ก ทัวร์ตามเวบ ทัวร์สมัครเล่น ทัวร์มือใหม่ ทัวร์หารเฉลี่ย ทัวร์ชวนกันเที่ยวตามเนต หลากหลายรูปแบบให้เลือก ชอบแบบไหนเลือกแบบนั้นเลยครับ
ไปดูอะไรที่ดอยหลวงเชียงดาว....
ดอยหลวงเชียงดาวมีเส้นทางเดินป่าที่ท้าทาย   มีความสูงที่โดดเด่นด้วยลักษณะเทือกเขาที่สูงชันขึ้นมาจากพื้นราบ ความหนาวเย็นสุดๆ เพราะสูงถึง 2 กิโลเมตรกว่าๆ  จุดชมวิวที่สวยงามเมื่ออยู่บนยอดดอย จุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม  ทะเลหมอกที่กิ่วลมสวยงามไม่แพ้ใคร บรรยากาศการแคมปิ้งในหุบเขาที่ยิ่งใหญ่มีสันเขาล้อมรอบทุกด้าน พืชพรรณหลากหลาย ดอกไม้เฉพาะถิ่นที่สวยงามมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร


ดอยเชียงดาว









ดอยผ้าห่มปก หรือ ดอยฟ้าห่มปก


ดอยผ้าห่มปก หรือ ดอยฟ้าห่มปก

ดอยฟ้าห่มปก หรือดอยผ้าห่มปกเป็นชื่อดอยเดียวกัน  เป็นยอดเขายอดหนึ่งบนเทือกเขาแดนลาว  แต่เดิมอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ในเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่เหนือเชียงใหม่ขึ้นไป 160 กิโลเมตร อยู่ห่างจากดอยอ่างขางที่โด่งดังไปทางเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร อยู่ทางด้านซ้ายมือของทางหลวงสาย 107 เชียงใหม่-ฝาง ห่างจากถนนใหญ่ไปทางซ้ายมือประมาณ 25 กิโลเมตร ( ตามทางถนน )
ทิศตะวันออก ติดกับเชิงเขาและพื้นที่การเกษตรข้างทางหลวงสาย 107 และตลาดฝาง
ทิศตะวันตกติดกับชายแดนพม่า
ทิศเหนือติดกับชายแดนพม่า ห่างนิดเดียว
ทิศใต้อยู่ติดกับเทือกเขาของดอยอ่างขาง
ที่ตั้งอย่างเป็นทางการคือ ที่ ตำบลโป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ. เชียงใหม่
ดอยผ้าห่มปก ..... ทำไมถึงเรียกว่า ผ้าห่มปก เคยได้ยินมาว่าต้นไม้ของป่าบนเทือกเขาแห่งนี้มีต้นไม้ที่ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยมอสดูเหมือนมีผ้าห่มมาห่อต้นไม้ไว้ ชื่อนี้เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นภายหลัง คนท้องถิ่นแถวนั้นเขาจะเรียกกว่า ดอยผาหลวง  คนต่างถิ่นไปตั้งชื่อจึงทำให้ชื่อเปลี่ยนไปเหมือนอย่างภูชี้ฟ้า ย่านนั้นมีแต่ดอย ดอยผ้าตั้งห่างไปนิดนึงก็เรียกว่าดอย แต่ดอยชี้ฟ้ากลับตั้งชื่อว่า ภูชี้ฟ้า  กลับมาดอยผ้าห่มปกกันต่อดีกว่า บนดอยสวยครับ  ความงามแบบเงียบๆ และโรแมนติกบนดอยผ้าห่มปกแห่งนี้น้อยคนนักที่จะได้รู้  บางคนได้ยินได้ฟังมาเพียงแต่ชื่อและสถิติความสูงว่าสูงเป็นอันดับที่สองของประเทศแต่ไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับดอยสูงแห่งนี้ว่าอยู่ในป่าดงไหน หรืออยู่จุดไหนของประเทศรู้แต่เพียงว่าอยู่ในป่าลึกใกล้ประเทศพม่า ลึกลับซับซ้อนเพียงไรในการขึ้นไปสัมผัสบนดอยสูงแห่งนี้ สื่อต่างๆ ไม่ค่อยได้เสนอเรื่องราวของดอยนี้ จึงทำให้ดอยผ้าห่มปกดูเงียบๆ ไป ผมเองก็ได้ยินมาว่าดอยผ้าห่มปกเป็นป่าทึบมีนกเยอะเหมาะกับการไปดูนก  เมื่อ 4 ปีที่แล้วผมได้ขึ้นไปยังดอยแห่งนี้ โอ้โฮ สวยครับ เหมาะแก่การไปท่องเที่ยวแบบแคมปิ้งมากเลย วิวสวย ป่าสวย ดอยสูง หนาวจับใจเพราะสูงมาก หลังจากการไปเยี่ยมเยือนครั้งนั้นผมก็ได้นำเอาภาพความสวยงามมานำเสนอ ปีต่อๆ มาผมก็พาสมาชิกขึ้นไปเที่ยว และแล้วปีล่าสุด เป็นทริปสุดฮอทของทัวร์ดอยไปเลยครับ   พอย่างเข้าเดือนพฤศจิกายนก็จัดขึ้นไปเกือบทุกอาทิตย์ ฮิตกว่าภูสอยดาวปีนี้ซะอีก  ก่อนนั้นก็มีนักเดินทางไม่น้อยที่อยากจะมาที่นี่เพราะพยายามมาพิชิตยอดดอยสูงอันดับ 2 เพียงเพื่อเป็นสถิติว่าได้มาพิชิตยอดเขาที่สูง 3 อันดับของของประเทศ    ดอยอินทนนท์ก็ไปมาแล้ว ดอยเชียงดาวก็ไปมาแล้ว ยังขาดแต่ดอยที่เป็นที่ 2 จึงต้องหาทางมาให้ครบ 3 อันดับ น้อยคนนักที่คิดจะมาเพราะว่าต้องการมาสัมผัสความงดงามของป่าแห่งนี้จะมีแต่เพียงนักดูนกที่ออกจะหลงไหลในป่าแห่งนี้ พอได้มาเข้าจริงๆ ติดใจไปเลย เพราะที่นี่สวยและโรแมนติก ไม่โหด วิวสวย ไม่รู้ว่าจะพูดเว่อร์ไปหรือเปล่า แต่ผมคิดยังนี้จริงๆ  บริเวณจุดกางเต็นท์ก็มีวิวสวย ทะเลหมอกหน้าแค้มป์ก็สวย หลังแค้มป์มีพระอาทิตย์ตกสวย เดินขึ้นบนยอดดอยยิ่งสวย ป่าระหว่างเส้นทางก็สวย น้ำก็มีให้อาบ ลานกางเต็นท์ก็โล่งมองขึ้นไปเห็นดาวเต็มฟ้า เห็นทางช้างเผือกด้วย หลังรับประทานอาหารค่ำแล้วเอาแผ่นพลาสติกไปปูนอนดูดาวกลางแจ้ง โรแมนติกหมั๊ยล่ะนี่   แต่ก่อนนั้นคือเมื่อก่อนปี 44 นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปกางเต็นท์ที่ยอดดอยได้เพราะที่นั่นมีจุดกางเต็นท์อยู่ในป่า พอปี 45 ก็จัดให้กางเต็นท์ที่กิ่วลมแค้มป์ ไม่ใช่แค้มป์ที่ผมไปทำไว้หรอก คือว่าบริเวณนั้นเขาเรียกว่า กิ่วลม คือช่องเขาเว้าที่ลมผ่านนั่นล่ะครับ เมื่อทางอุทยานกำหนดจุดกางเต็นท์จุดใหม่ก็ทำให้ความลำบากในการพิชิตยอดดอยผ้าห่มปกลดลง บางคนบอกว่าไม่มันส์ ไม่โหดไม่มา แต่ถ้าท่านเป็นนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติ อยากเห็นความสวยงาม คือเที่ยวแบบว่าโรแมนติกประทับใจ ไม่เน้นโหดล่ะก็ ที่นี่ล่ะครับ ผมรับประกันเลย แต่ถ้าเน้นเดินโหดไม่เน้นเรื่องสวยก็โน่นเลย โมโกจู ถ้าชอบเดินไต่ระห่ำก็แนะนำไปทริปดอยลังกาหลวง หรือชอบแบบว่าสูงเฉียดฟ้าข้าจะไปก็ต้องเชียงดาวครับ โหด สูง ท้าทายไม่มีน้ำอาบ แต่ประทับใจในความมุ่งมั่นของตนเอง เอาเป็นว่าชอบแบบไหนเที่ยวแบบนั้นเลยครับ 





ดอยผ้าห่มปก เป็นเพียงยอดดอยหนึ่งของเทือกเขาผีปันน้ำ ซึ่งมีความสูงที่สุดในทุกๆ ยอดของเทือกเขานี้ สูงเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศด้วยระดับความสูง 2,285 เมตร อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายอย่างที่น่าสนใจแต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงดอยผ้าห่มปกที่เป็นจุดสนใจของนักเดินทาง ดอยผ้าห่มปกมีลักษณะทางธรณีวิทยาคล้ายกับดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นภูเขาหินแกรนิต มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มากจึงได้รับการปกป้องไว้เพื่อเป็นป่าต้นน้ำอันเป็นจุดกำเหนิดของแม่น้ำฝาง ต้นกำเหนิดของแม่น้ำสายนี้อยู่ห่างจากจุดกางเต็นท์บนยอดดอยสูงเพียง 200 เมตร ( ตอนนี้ยกเลิกจุดกางเต็นท์นี้แล้ว ) มีน้ำไหลรินมาจากชั้นดินมีปริมาณน้อยขนาดต้องใช้ขวดรองแต่ปริมาณน้ำมีทั้งปีให้นักเดินท่องได้ใช้ได้ดื่มกิน ด้วยความสูงที่แตกต่างบนเทือกดอยแห่งนี้จึงทำให้เกิดป่าลักษณะต่างๆ แตกต่างกันตามระดับความสูงและด้วยความสมบูรณ์ของผืนป่าจึงทำให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกและสัตว์ป่าจำนวนมาก โดยเฉพาะนกจะมีปริมาณมากจนทำให้นักนิยมในการดูนกหลงไหลให้การแวะเวียนมากันไม่ขาดสาย
สภาพอากาศโดยทั่วไปบนยอดดอยมีอุณหภูมิหนาวเย็นเพราะเป็นยอดเขาที่อยู่บนระดับสูง บางครั้งหนาวเย็นจนกระทั่งมีน้ำค้างแข็งจับต้นหญ้าข้างเต็นท์เลย



 แหล่งท่องเที่ยว
     
           โป่งน้ำร้อนฝาง

          เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติเกิดจากความร้อนใต้ดิน มีไอร้อนคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา อุณหภูมิของน้ำประมาณ 40-88 องศาเซสเซียล มีจำนวนมากมายหลายบ่อในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ (บ่อใหญ่มีไอน้ำร้อนพุ่งขึ้นสูงถึง 40-50 เมตร) อุทยานแห่งชาติได้จัดบริการห้องอาบน้ำแร่และอบไอน้ำ บ่อน้ำร้อนจะอยู่ก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเล็กน้อย และทางอุทยานแห่งชาติได้จัดให้มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติขึ้นเขาผ่าป่าเบญจ พรรณมาถึงบ่อน้ำร้อน ระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร
 
           เส้นทางปั่นจักรยานเสือภูเขา

          อุทยานแห่งชาติแม่ฝางได้จัดทำเส้นทางจักรยานเสือภูเขาขึ้น 2 เส้นทาง คือ เส้นทางถ้ำห้วยบอน – ผาหลวง – กิ่วลม และเส้นทางผาหลวง – โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ – น้ำตกนามะอื้น เพื่อนำนักท่องเที่ยวที่ชอบการออกกำลังกายและชอบความท้าทาย เข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติและความสมบูรณ์ของป่า
     

           โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ ดอยฟ้าห่มปก

          เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยพื้นที่โครงการฯเป็นที่อยู่อาศัย และทำกินของชาวเขา 4 เผ่า ได้แก่ มูเซอ กระเหรี่ยง อาข่า และลีซอ นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี วัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่า ชมแปลงเกษตรกรรมไม้ผล ไม้ดอกประดับ และพืชผักเมืองหนาว นาข้าวขั้นบันได เลือกซื้อของที่ระลึกจากชนเผ่า เช่น เครื่องเงิน เครื่องจักสาน ผ้าทอ งานแกะสลักไม้ พักผ่อนหย่อนใจด้วยการกางเต๊นท์พักแรมบริเวณลานกางเต๊นท์ระดับความสูง 1,610 เมตร จากระดับน้ำทะเล อีกทั้งสามารถนอนพักแรมในรูปแบบ Home stay ในบ้านชาวเขาแต่ละเผ่าได้อีกด้วย โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ฯ ดอยฟ้าห่มปก ตั้งอยู่บริเวณตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่



ดอยฟ้าห่มปก

          เป็นดอยที่สูงอันดับ 2 ของประเทศไทย ด้วยความสูงประมาณ 2,285 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง บนยอดดอยสูงสุดเป็นทุ่งโล่งอันเกิดจากสภาพธรณีวิทยาที่มีชั้นดินตื้น ชั้นหินเป็นหินแกรนิต ประกอบกับอากาศมีลมกรรโชกแรงตลอดทั้งปี จากยอดดอยจะเห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น ทะเลหมอก และถนนบนสันเขา ขนานกับชายแดนไทย-พม่า ซึ่งถือเป็นถนนที่สร้างขึ้นเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ส่วนสภาพป่าเป็นป่าต้นน้ำ ป่าดิบเขา ซึ่งมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สมดุลและหลากหลายทางชีวภาพ ดังเช่นจะพบพันธุ์พืช สัตว์ป่าหายากและที่น่าสนใจนานาชนิด อาทิ เทียนหาง บัวทอง ผีเสื้อไกเซอร์อิมพิเรียล ผีเสื้อมรกตผ้าห่มปก ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ นกปรอดหัวโขนก้นเหลือง และนกปีกแพรสีม่วง เป็นต้น ในฤดูหนาวมีนกอพยพมาอาศัย เช่น นกเดินดงคอแดง นกเดินดงดำปีกเทา นกเดินดงสีน้ำตาลแดง ฯลฯ เส้นทางขึ้นดอยผ้าห่มปกมี 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางกิ่วลม ทางปางมงคล และทางหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สาว ผู้สนใจต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ     

           ถ้ำห้วยบอน

          เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามมาก มีความลึกจากปากถ้ำหนึ่งถึงอีกปากถ้ำหนึ่งประมาณ 324 เมตร กว้างประมาณ 20-30 เมตร ภายในถ้ำไม่มีจุดอันตรายต่อผู้เข้าชม ประมาณกลางถ้ำจะพบโถงถ้ำใหญ่ซึ่งจุคนได้ประมาณ 40-50 คน สภาพถ้ำเต็มไปด้วยเสาหินและหินงอกหินย้อยขนาดต่างๆ และบริเวณใกล้เคียงมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยประมาณ 10 ถ้ำ อยู่ห่างจากอำเภอฝางประมาณ 12 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยทางเท้าจากบ่อน้ำร้อนระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
     
           น้ำตกตาดหมอก

          ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอแม่อายประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ติดกับถนนลาดยาง ลักษณะที่น้ำตกลงมาเหมือนใยแก้ว ละอองน้ำกระจายอยู่ทั่วแผ่นผาคล้ายหมอก มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
     
           น้ำตกตาดเหมย

ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอแม่อายประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ติดกับถนนลาดยาง ลักษณะที่น้ำตกลงมากระจายทั่วแผ่นผาคล้ายหมอก
     
           น้ำตกนามะอื้น

          อยู่บริเวณกลางป่าทึบในตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีทั้งหมด 3 ชั้นใหญ่ๆ มีน้ำไหลตลอดปี 
     
           น้ำตกปู่หมื่น

          น้ำตกปู่หมื่น เป็นน้ำตกที่มีลักษณะการไหลของสายน้ำกระจายผ่านแผ่นผา 2 ชั้น ด้วยความสูงกว่า 10 เมตร 
     
           น้ำตกโป่งน้ำดัง

          เป็นน้ำตกหินปูนขนาดเล็กที่สวยงามมีการไหลของน้ำที่สม่ำเสมอ ชั้นบนสุดมีความสูงกว่า 10 เมตร บริเวณน้ำตกมีถ้ำขนาดเล็กๆ พอให้คนเข้าไปนั่งเล่นได้ 3-4 คน เพดานถ้ำมีน้ำหยดตลอดเวลาและเกิดเป็นหินงอกเล็กๆ ไปทั่ว ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มฝ.3 (น้ำตกโป่งน้ำดัง) บ้านแม่สูนน้อย ตำบลแม่สูน อำเภอฝาง ต้องเดินตามเส้นทางเดินป่าไปสู่น้ำตก ระยะทางไป-กลับ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ระหว่างทางผ่านป่าดิบแล้งที่ร่มครึ้มด้วยไม้ใหญ่ บางช่วงต้องเดินข้ามลำธารที่มีน้ำใสไหลเย็น

           น้ำตกห้วยเฮี้ยน

          อยู่ทางตอนเหนือของลำห้วยเฮี้ยน ห่างจากถ้ำห้วยบอน ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นน้ำตกใหญ่มีประมาณ 3 ชั้น ชั้นที่สวยงามที่สุดมีความสูงกว่า 15 เมตร มีน้ำไหลตลอดปี
     
           ห้วยแม่ใจ

          เป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปี น้ำใสสะอาด เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอยู่ห่างจากบ่อน้ำร้อนประมาณ 300 เมตร นำแม่ใจเป็นแหล่งนำที่ไหลหล่อเลี้ยงชาวบ้านอำเภอฝาง ใช้ในด้านการเกษตร
     
           ชมพิธีกินวอ

          พิธีกินวอ ชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอร์ จะประกอบพิธีในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยจะมีพิธีการเลี้ยงสุรา – อาหารและมีอาหารสำคัญที่ทุกบ้านจะต้องทำไว้กินหรือไว้ใช้ประกอบพิธีรดน้ำดำ หัวขอพร และในงานพิธีฉลองจะมีการเต้นรำตามพิธี เรียกว่า "การเต้นจะคึ" โดยท่าเต้นจะประยุกต์มาจากวิธีชีวิตในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม 
     
           ชมพิธีมอเล่เว

พิธีมอเล่เว หรือพิธีบวชป่า เป็นพิธีของชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่าจะประกอบพิธีขึ้นในช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งจะเป็นการเลี้ยงขอบคุณผีป่าที่ช่วยปกป้องคุ้มครอง ในพิธีจะมีการแห่เครื่องเซ่นไหว้โดยทุกครอบครัวจะต้องจัดเตรียม เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ข้าสารและไก่สด 1 ตัว ออกจากหมู่บ้านไปยังสถานที่ประกอบพิธีหรือบริเวณที่จะทำการบวชป่า ซึ่งในพิธีจะมีการเชือดไก่สดแล้วใช้เลือดไก่และข้าวสารโปรยรอบบริเวณที่ทำพิธี
เส้นทางศึกษาธรรมชาติธรรมชาติดอยผ้าห่มปก

          เส้นทางศึกษาธรรมชาติธรรมชาติดอยผ้าห่มปก เป็นเส้นทางเดินเท้าที่จัดสร้างขึ้นเพื่อสื่อให้เห็นถึงสภาพป่าดิบเขาและ ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าดิบเขา รวมถึงความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยจุดเริ่มต้นของเส้นทางจะอยู่บริเวณด้านข้างลานกางเต็นท์กิ่วลมและไปสิ้น สุดยังบริเวณยอดดอยผ้าห่มปก ด้วยระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวนิยมใช้เส้นทางนี้ในการเดินขึ้นสู่ยอดดอย เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เดินสะดวกไม่ชันจนเกินไปและมีความหลากหลายของพืช พรรณ จากบริเวณยอดดอยผ้าห่มปกเดินย้อนลงไปทางทิศเหนือไปสิ้นสุดยังหน่วยจัดการ ต้นน้ำดอยผาหลวง (A-FRAME) บริเวณน้ำตกแม่แฮง ด้วยระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง เส้นทางสาย A-FRAME นี้ เป็นเส้นทางที่เป็นที่นิยมของนักดูนกอีกด้วย

           เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกโป่งน้ำดัง

          เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกโป่งน้ำดัง เป็นเส้นทางเดินเท้าที่จัดสร้างขึ้นเพื่อสื่อให้เห็นถึงความหลากหลายทาง ชีวภาพของสภาพป่าริมลำธาร รวมถึงความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายในป่าชนิดนี้ โดยจุดเริ่มต้นของเส้นทางจะอยู่บริเวณด้านข้างที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่ฝางที่ มฝ. 3 และไปสิ้นสุดยังบริเวณลานน้ำตกโป่งน้ำดัง ด้วยระยะทางประมาณ 700 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 30 – 45 นาที
     
           เส้นทางศึกษาธรรมชาติโป่งน้ำร้อน

          เส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติโป่งน้ำร้อน เป็นเส้นทางเดินเท้าที่จัดสร้างขึ้นเพื่อสื่อให้เห็นถึงความหลากหลายทาง ชีวภาพในป่าเบญจพรรณ รวมถึงความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายในป่าชนิดนี้ โดยจุดเริ่มต้นของเส้นทางจะอยู่บริเวณด้านข้างที่ทำการอุทยานแห่งชาติ และไปสิ้นสุดยังลานบ่อน้ำพุร้อน ด้วยระยะทาง 1,700 เมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง

           ห้องอาบน้ำแร่ - ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

          อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกได้มีการพัฒนาโดยการนำน้ำพุร้อนและไอน้ำร้อนมาใช้ ประโยชน์ในเรื่องของการให้บริการแช่ อาบและอบไอน้ำแร่ ในอาคารอาบ - อบไอแร่ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีบริการนวดแผนไทย โดยการนำประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานที่มีความสามารถและความสนใจในด้านนี้เข้าร่วม โครงการฝึกอบรมการนวดแผนโบราณ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้หมุนเวียนในท้องถิ่น ซึ่งมักมีนักท่องเที่ยวทั่วไปและคนในท้องถิ่นเข้ามาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ


 การเดินทาง  เมื่อเดินทางไปจาก กรุงเทพฯ มุ่งสู่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อถึงเชียงใหม่ให้แยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 107 เส้นทางไปแม่ริม ขับตรงสู่อำเภอฝาง ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ผ่าน อ. เชียงดาว ที่มีดอยหลวงเชียงดาวที่ยิ่งใหญ่ เมื่อจะเข้าเมืองฝางให้ใช้เส้นทางเลี่ยงเมือง วงแหวนฝั่งตะวันตก เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายเลี่ยงเมือง จะผ่านสี่แยกถนนเล็กๆ แล้วก็ผ่านสะพานข้ามลำห้วยเล็กๆ จากนั้นจะเจอทางสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางลาดยางสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก  ขับตรงไปจนเจอทางสามแยกให้แยกไปทางขวา ขับไปจนสุดถนนนั่นคือที่ทำการอุทยานฯ  จอดรถไว้ที่ทำการอุทยาน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะพาขึ้นรถขับเคลื่อนสี่ล้อ 4FD เพื่อไปส่งยังจุดเริ่มเดินเท้า พูดเหมือนสะดวกเพราะนั่นเป็นการเดินทางโดยรถส่วนตัวหรือรถตู้เช่าเหมาไป
การเดินทางโดยรถโดยสาร
จากกรุงเทพฯ มีรถปรับอากาศสายกรุงเทพฯ - ท่าตอน   ของบริษัท บขส และ บ. นิววิริยะยานต์ วิ่งให้บริการ รถออกจากท่ารถหมอชิตใหม่ สี่โมงกว่า ห้าโมงกว่า หกโมงกว่า เวลาชัวร์ๆ โทรไปสอบถามที่สถานีขนส่ง
รถจะผ่านเมืองฝางตอนเช้าตรู่  จากฝางเช่ารถเข้าไปยังอุทยาน หลังจากนั้นก็ติดต่อเจ้าหน้า เสียค่าธรรมเนียม และขึ้นดอย
เที่ยวกลับมีรถสายเดิมวิ่งผ่านตอนสี่โมงกว่าๆ ห้าโมงกว่าๆ ถ้าให้ชัวร์ก็ต้องโทรไปสอบถามออฟฟิคของรถทัวร์ที่ฝาง
หรือถ้าจะเดินทางจากฝางเข้าเชียงใหม่ ก็มีรถตู้ให้บริการ ฝาง-เชียงใหม่ ออกทุกๆ 30 นาที  ติดต่อที่ท่ารถตู้ที่ฝาง ไปไม่ถูกเรียกมอไซด์ไปส่งได้เลย ใกล้ๆ   รถตู้จะมาจอดที่สถานีช้างเผือก จากสถานีช้างเผือกจะไปไหนต่อก็เรียกใช้บริการรถสี่ล้อแดง  ถ้าประหยัดก็นั่งไปเรื่อยๆ ถ้ารีบๆ ก็เหมาไปเลย ราคาไม่เท่าไร
การขึ้นดอยแต่ละครั้งจะต้องขออนุญาตและมีเจ้าหน้าที่นำทาง ถ้านำรถโฟร์วีลไปเองก็ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพราะว่าเส้นทางขึ้นยอดดอยมีคานเหล็กขวางกั้น  เจ้าหน้าที่ๆ นำเราขึ้นดอยจะเป็นผู้ไขกุญแจจึงผ่านไปได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันคนท้องถิ่นนำรถขึ้นมาขนของป่า เช่น สนเกี๊ย หรือของป่าอื่นๆ  เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าเอารถขึ้นมาได้ก็จะขนกันทีละเยอะๆ  แต่ถ้าปิดซะ ถึงแม้จะมีมอเตอร์ไซด์ผ่านมาได้แต่ก็ขนของได้ไม่มากเท่าไร ตรวจค้นก็ง่าย  สรุปว่าเข้าไปเสียค่าธรรมเนียมตามระเบียบ ไม่แพง ค่าเข้าคนละ 20 บาท รถคันละ 30 บาท ค่ากลางเต็นท์ 2 คืน 60 บาท เท่านี้เอง
เมื่อขึ้นดอยไปแล้วจะไปชมพระอาทิตย์ตกก็ควรให้เจ้าหน้าที่นำทาง ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่ว่างก็จะจัดคนนำทางท้องถิ่นนำทางให้  บางคณะเดินกันเองเพราะคิดว่าเส้นทางเด่นชัด  แต่ปรากฎว่าหลงป่าครับ 2 ทุ่มแล้วยังไม่ลงกันมาอีก คราวนี้ก็ลำบากเจ้าหน้าที่ ต้องพากันออกไปตาม ก่อนออกไปก็ได้ยิงเสียงปืนดังสามนัดเขาบอกว่ายิงเพื่อให้หมีมันหลบๆ ไป  ที่นี่ถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จริงแต่ว่าในแต่ละปีจะปิดซะเป็นส่วนใหญ่ จะเปิดในช่วงต้นหนาวทำให้สัตว์ป่ายังออกมาหากินกันตามปกติ หมีตัวใหญ่ๆ มีเยอะ หมาไนฝูงละเป็นร้อยตัว เรื่องความปลอดภัยไม่ควร งก นะครับ  บริษัททัวร์ก็ไม่ควรประหยัดค่าเจ้าหน้าที่นำทาง พาเดินโดยที่ตนเองยังไม่รู้เส้นทางก็หลง  ถ้าหลงต้องนอนในป่าล่ะก็ลำบากแน่สำหรับป่านี้ ถึงแม้ออกมาได้ก็ต้องผ่านดงต้นช้างร้องซึ่งที่นี่มีเป็นดงๆ ทั่วไปหมด ไม่คุ้มเลย ใช้เจ้าหน้าที่นำทางดีกว่า หลงก็ไม่หลง ถามข้อมูลก็รู้ เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ย่อมมีความรู้ความชำนาญพื้นที่ดีกว่าเรา  หรืออย่างน้อยก็ทำให้นักท่องเที่ยวสบายใจ  

ที่พัก

          อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก มีบ้านพักไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว สถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้ บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์และพื้นที่กางเต็นท์ สามารถจองด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช www.dnp.go.th หรือโทรติดต่อให้เจ้าหน้าที่ทำการจองให้ได้ที่หมายเลข 0 2562 0760 (8 คู่สายอัตโนมัติ) ลานกางเต็นท์ที่เปิดให้บริการมี 2 ลาน คือ

            1. ลานกางเต็นท์บ่อน้ำร้อน โซนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
            2. ลานกางเต็นท์ดอยกิ่วลม อยู่เส้นทางขึ้นยอดดอยผ้าห่มปก ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 37 กิโลเมตร คือ จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ - ด่านห้วยบอน 19 กิโลเมตร, ด่านห้วยบอน - ลานกางเต็นท์ดอยกิ่วลม 18 กิโลเมตร และเดินเท้าจากลานกางเต็นท์ดอยกิ่วลม - จุดชมทิวทัศน์ดอยกิ่วลม 3.5 กิโลเมตร



          การใช้บริการลานกางเต็นท์ดอยกิ่วลม ผู้ใช้บริการต้องติดต่อขอรับบริการ ณ ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติก่อน เพื่อรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ทั้งในเรื่องเส้นทาง ยานพาหนะ รับเต็นท์ และอุปกรณ์เครื่องนอน (กรณีใช้เต็นท์และอุปกรณ์ของอุทยานแห่งชาติ)

 สถานที่ติดต่อ

          อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ตู้ ปณ.39 อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 50110 โทรศัพท์ 08 6430 9748, 0 5345 3517-8   โทรสาร 05 3317 496 อีเมล doiphahompok@fca16.com ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก คนไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท และอุทยานแห่งชาติจะทำการปิดบริเวณยอดดอยผ้าห่มปก ระหว่างวัน 1 กรกฎาคม - 30 กันยายนของทุกปี

ที่มา:http://travel.kapook.com/view1648.html
        http://www.tourdoi.com/doi/doihompok/general.htm

ดอยช้าง

ทิวเขาซับซ้อนสุดลูกหูลูกตา พระอาทิตย์ค่อย ๆ โผล่พ้นทะเลหมอก สาดแสงสีทองส่องสว่าง เป็นภาพที่หาชมได้ ณ ดอยช้าง จังหวัดเชียงราย พร้อม ๆ กับไปลิ้มลองจิบกาแฟอราบิก้ารสชาติดี เคล้าทัศนียภาพที่สบายตาสบายใจ นั่นแน่! เริ่มอยากไปเห็นภาพ ดอยช้าง ด้วยตาตัวเองแล้วใช่ไหมล่ะ ถ้างั้นก็อย่ารอช้า ตามเราเข้าไปสัมผัสกับอีกความงดงามหนึ่งของเมืองไทยกัน...

          ดอยช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย สูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร แต่เดิมเป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าม้ง ต่อมาปี พ.ศ. 2458 ชนเผ่าลีซอได้อพยพเข้ามาตั้งเป็นหมู่บ้านดอยช้าง และปี พ.ศ.2526 ชนเผ่าอาข่าได้เข้ามาอาศัยอยู่ใน หมู่บ้านดอยช้าง ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ มีวิถีชีวิตเงียบสงบ 


ส่วนชื่อ บ้านดอยช้าง นั้น ตั้งขึ้นตามลักษณะของภูเขาที่มีรูปร่างเหมือนช้างแม่ลูกสองเชือก หันหน้าไปทางทิศเหนือ (ตัวจังหวัดเชียงราย) สามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่บริเวณโรงเรียนบ้านดอยช้าง และบน ดอยช้าง มี ผาหัวช้าง สูง 1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นสถานที่ชมทิวทัศน์ที่สวยงาม อากาศเย็นสบายตลอดปี โดยอุณหภูมิเฉลี่ย 18 องศาเซลเซียส

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือน ดอยช้าง ก็คือการลิ้มรสชิมกาแฟสดพันธุ์อราบิก้ารสเยี่ยม กลิ่นหอมนุ่มนวล เพราะ ดอยช้าง เป็นที่ตั้งของ สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี เพื่อส่งเสริมการปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาว ลดการทำไร่เลื่อนลอย โดยเริ่มงานเมื่อปี พ.ศ.2529 มีพื้นที่ 3,646 ไร่ ต่อมาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิต 

          ซึ่งพื้นที่ ดอยช้าง อยู่ที่ระดับความสูงเกิน 1,000 เมตร มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี จึงเหมาะสำหรับปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้า ทำให้ได้ผลผลิตดี ทางศูนย์ติดตั้งเครื่องคั่วบดกาแฟ เพื่อแปรรูปวัตถุดิบ มีกาแฟที่คั่วบดแล้วให้นักท่องเที่ยวได้ลองชิม รวมถึงแปลงปลูกผลไม้เมืองหนาว เช่น เกาลัด มะคาเดเมียนัต บ๊วย ท้อ พลับ พลัม ฯลฯ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่พาชมแปลงปลูกพืชรอบพื้นที่บริเวณ 




  และอีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้นักเดินทางแวะเวียนไป ดอยช้าง นอกจากจากกาแฟรสชาติดี ทิวทัศน์สวยงาม อากาศแสนบริสุทธิ์แล้ว ช่วงฤดูหนาว ต้นพญาเสือโคร่ง หรือ ดอกซากุระเมืองไทยยังผลิดอกสีชมพูบานสะพรั่งไปทั่วทั้งบริเวณ เพราะมีต้นพญาเสือโคร่งมากถึง 400,000 ต้นทีเดียว 


 อีกทั้งบริเวณ ดอยช้าง ยังมี บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ บริเวณ พุทธอุทยานดอยช้าง ซึ่งมีความสำคัญคือ เป็นน้ำ 1 ใน 9 แห่ง ของน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่นำไปประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาพุทธมังคลาภิเษก เนื่องในวโรกาศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมายุครบรอบ 60 พรรษา และบริเวณ พุทธอุทยานดอยช้าง ยังคงสภาพความเป็นธรรมชาติของป่าไม้ไว้ได้อย่างสมบูรณ์มาก มีบึงน้ำขนาดใหญ่อยู่กลางพุทธอุทยาน  




การเดินทาง 

         
การเดินทาง มีเส้นทางขึ้นได้ ๓ สาย คือ
๑.สายอำเภอแม่สรวย -บ้านตีนดอย-แสนเจริญ-ดอยล้าน-ดอยช้าง {ระยะทาง ๒๘ กิโลเมตร (จากเชียงราย ๗๕ กิโลเมตร) }
๒. สายห้วยส้าน (อ.แม่ลาว) -ห้วยส้านลีซอ - เกษตรฯ- ดอยช้าง {ระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร }
๓. สายอำเภอแม่สรวย-บ้านตีนดอย- ริมเขื่อนแม่สรวย - ทุ่งพร้าว - ห้วยไคร้ - ดอยช้าง {ระยะทาง ๓๐ กิโลเมตร}



จากเชียงราย เดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 118 ถึงบ้านตีนดอย ก่อนถึง อ.แม่สรวย ราว 10 กิโลเมตร แยกขวาเข้าที่บ้านตีนดอยไปยังบ้านทุ่งพร้าว ระยะทาง 20 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่บ้านดอยช้าง ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร เมื่อมาถึง จุดชมวิวดอยช้าง บริเวณโดยรอบถูกประดับด้วยดอกไม้เมืองหนาวออกดอกสีสดใสตลอดเส้นทางเข้าดอยช้างจะบานสะพรั่งไปด้วยดอกซากุระ หรือนางพญาเสือโคร่ง สีขาวอมชมพู และได้ตื่นเต้นกับ ดอกท้อ สีชมพูอ่อนและผลท้อที่กำลังเติบโต ลูกเท่าหัวแม่มือที่หาดูได้ยาก และที่นี่เป็นแห่งเดียวของประเทศไทยที่จะมีโอกาสได้เห็น ดอกซากุระขาวบาน ทั่วดอยด้วยเช่นกัน ในบริเวณจุดชมวิวทัศนียภาพโดยรอบสามารถมองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนกันไปอย่างสวยงามมองเห็นไปถึงเมืองยองในประเทศพม่า และชัยภูมิที่ตั้งของ อ.เมือง จ.เชียงราย
จากจุดชมวิวดอยช้างเดินทางต่อมาอีกราว 2 กิโลเมตร ก็จะถึง พุทธอุทยานดอยช้าง ซึ่งมีหลวงพ่ออำนาจ สีลคุโณ ได้มาปฏิบัติธรรมจำพรรษาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2532 เป็นผู้ดูแลรักษาพุทธอุทยาน ดอยช้าง ยังคงสภาพความเป็นธรรมชาติของป่าไม้ไว้ได้อย่างสมบูรณ์มาก มีบึงน้ำขนาดใหญ่อยู่กลางพุทธอุทยาน มีสีเขียวมรกตบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ รายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย มีเสียงกบเขียดร้องอยู่ตลอดเส้นทางเดินไปสู่ ลานพุทธสถานที่มีพระพุทธรูปปางต่างๆไว้ให้ประชาชนได้กราบไหว้สักการะบูชา ถัดจากลานพุทธสถานก็มุ่งตรงสู่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่มีน้ำไหลเข้าไปในบ่ออยู่ตลอดเวลาไม่เคยเหือดแห้ง และน้ำก็ยังใสสะอาดเย็นฉ่ำตลอดทั้งปี น้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธอุทยานดอยช้างแห่งนี้ เป็น 1 ใน 9 ของน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำไปกระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาพุทธมังคลาภิเษก เนื่องในวโรกาศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมายุครบรอบ 60 พรรษา
นอกจากนั้นสามารถชม ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงราย (สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี) และ ชมทะเลหมอกบนดอยกาดผี ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,650 เมตร เล่ากันว่าในช่วงฤดูหนาวสามารถมองเห็นทะเลหมอกได้รอบทิศ 360 องศา ลงจากดอยกาดผี จากนั้นสามารถเดินทางไปชม สวนชาของตำบลวาวี ซึ่งว่า เป็นการปลูกชาครั้งแรกในประเทศไทย เริ่มต้นที่ดอยวาวีแห่งนี้ก่อนเป็นที่แรก และยังมีต้น ชาพันปี อยู่ที่กลางป่าในเขตบ้านใหม่พัฒนา ขนาด 3 คน โอบ และชม สวนส้มพันธุ์สายน้ำผึ้งก่อนเดินทางไปบ้านวาวีเพื่อ ชมวิถีชีวิตชนเผ่า ที่มีความเป็นอยู่อย่างสุขสงบอยู่รวมกันอย่างสมานฉันท์ เอื้ออาทรต่อกันทั้งหมด 13 ชนเผ่า และมีโรงเรียนสอนภาษาจีนชื่อโรงเรียนกวางฟูวิทยาคม ตั้งอยู่ที่นี่ เด็กนักเรียนตำบลวาวี สามารถเรียนภาษาจีนได้ฟรีหรือเสียค่าใช้จ่ายน้อยมาก จึงเป็นแหล่งผลิตผู้ที่มีความรู้ทางด้านภาษาจีนอย่างดีเยี่ยมเพราะมีครูจากไต้หวันมาสอนให้โดยเด็กนักเรียนต้องพูดภาษาจีนกันทุกคนภายในโรงเรียน เมื่อเรียนถึงขั้นสูงยังมีทุนให้ไปเรียนต่อยังประเทศไต้หวันอีกด้วย....