วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

ดอยอินทนนท์


 พอเริ่มปีใหม่เข้ามา หลายคนคงเตรียมตัววางแผนที่จะท่องเที่ยว เก็บข้าวเก็บของลงกระเป๋าแน่ ๆ และสถานที่น่าท่องเที่ยวตอนนี้เห็นจะเป็นทางภาคเหนือ เนื่องจากช่วงต้น ๆ ปีอย่างนี้ทางภาคเหนือยังคงอากาศหนาวเย็น บางที่อากาศก็กำลังเย็นสบายทีเดียว ชวนให้ไปสัมผัสซึมซับกับบรรยากาศสุด ๆ ...

          ถ้าจะพูดถึงสถานที่ที่นักเดินทาง ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น อยากจะไปสัมผัสให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต ชื่อของ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หรือ ดอยอินทนนท์ ก็น่าจะอยู่ในลิสต์อันดับต้น ๆ เพราะไม่ว่าจะรักการเที่ยวแบบชิลล์ ๆ หรือลุย ๆ สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตแห่งนี้ ก็พร้อมต้อนรับด้วยความงดงามของธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ของ ป่าใหญ่ดึกดำบรรพ์ (Old growth forest) สภาพอากาศที่หนาวเย็นและชุ่มฉ่ำตลอดทั้งปี ทำให้มีมอส เฟิร์นและพืชอิงอาศัย (epiphyte) ชนิดอื่น ๆ ขึ้นปกคลุมตามลำต้นอย่างหนาแน่น ใครที่เดินทางมาเที่ยวจะต้องประทับใจกับสีสันของใบไม้ป่าผลัดใบ ที่กำลังจะผลัดใบในช่วงปลายปี 
  ส่วนต้นปี ดอกไม้นานาชนิดก็บานสะพรั่งอดไม่ได้ที่จะกดชัตเตอร์ฝากภาพสวย ๆ ฝากเพื่อน หรือจะเลือกชมความโล่งของป่าทุ่งหญ้าหรือไร่ร้าง หน้าผาอันสูงชัน ทำให้มองเห็นสภาพภูมิประเทศได้กว้างไกล เป็นแหล่งที่อยู่ที่สำคัญของกวางผาและนกชนิดต่าง ๆ ก็สนุกไม่แพ้กัน
          ดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อพ.ศ.2515 ประกาศเป็นอุทยานฯ เป็นลำดับที่ 6 ของประเทศไทย มีพื้นที่ 482.4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ดอยอินทนนท์แต่เดิมดอยนี้มีชื่อว่า "ดอยหลวง" หรือ "ดอยอ่างกา"ดอยหลวง มาจากขนาดของดอยที่ใหญ่มาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "ดอยหลวง" (หลวง: เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ใหญ่)
ดอยอินทนนท์ อดีตกาลก่อนป่าไม้ทางภาคเหนืออยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (องค์สุดท้าย) พระองค์ให้ความสำคัญกับป่าไม้อย่างมาก โดยเฉพาะป่าในบริเวณดอยหลวง ทรงรับสั่งว่า หากสิ้นพระชนม์ลงให้นำอัฐิบางส่วนขึ้นไปสร้างสถูปบรรจุไว้บนดอย ดอยนี้จึงมีนามเรียกขานว่า "ดอยอินทนนท์" แต่มีข้อมูล บางกระแสกล่าวว่า ที่ดอยหลวงเรียกว่า ดอยอินทนนท์ นั้น เป็นเพราะเนื่องจากว่าเป็นการให้เกียรติ เจ้าผู้ครองนคร จึงตั้งชื่อจากคำว่า "ดอยหลวง" ซึ่งเป็นชื่อที่มีความซ้ำกับดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว แต่ภายหลังมีชาวเยอรมัน มาทำการสำรวจและวัด ซึ่งปรากฎผลว่า ดอยหลวง หรือดอยอ่างกา ที่อำเภอแม่แจ่มมีความสูงกว่า ดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน และเรียกดอยแห่งนี้ว่า "ดอยอินทนนท์"
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ "ป่าสงวนแห่งชาติดอยอินทนนท์" ต่อมาได้ถูกสำรวจและจัดตั้งเป็นหนึ่งในสิบสี่ ป่าที่ทางรัฐบาลให้ดำเนินการเป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งครั้งแรกกรมป่าไม้เสนอ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ให้มี พื้นที่ 1,000 ตร.กม. หรือประมาณ 625,000 ไร่ แต่เนื่องจากพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ อาศัยอยู่ก่อนหลายชุมชน จึงทำการสำรวจใหม่ และกันพื้นที่ที่ราษฎร อยู่มาก่อน และคาดว่าจะมีปัญหาในอนาคตออก จึงเหลือพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 270 ตร.กม. หรือประมาณ 168,750 ไร่ ประกาศลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 และในวันที่ 13 มิถุนายน 2521 รัฐบาลประกาศพื้นที่เพิ่มอีกเป็น 482.4 ตร.กม. อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ มีความสูงจากระดับน้ำทะลปานกลาง 400-2,565.3341 เมตร เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยสำหรับวัตถุประสงค์ในการกำหนดที่ดินให้ เป็นอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หมวด 1 มาตรา 6
การเดินทาง
           จากตัวเมืองเชียงใหม่ สามารถ เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้ 3 เส้นทางคือ

          เส้นทางที่ 1 จากจังหวัดเชียงใหม่เดินทางโดยใช้เส้นทางถนนสายเชียงใหม่-ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอำเภอ หางดงและอำเภอสันป่าตอง ไปยังอำเภอจอมทอง ก่อนถึงอำเภอจอมทองประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามถนนสายจอมทอง- อินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009) จะเริ่มเข้าเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่กิโลเมตรที่ 8 (น้ำตกแม่กลาง) และ ตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เป็นระยะทางทั้งหมด 49.8 กม. ... ดูแผนที่เส้นทางที่ 1 (สีเหลือง)  


           

           เส้นทางที่ 2 จากจังหวัดเชียงใหม่เดินทางตามเส้นทางถนนสานเชียงใหม่-ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทองและอำเภอฮอด จากอำเภอฮอดเดินทางต่อโดยใช้เส้นทางสายฮอด-แม่สะเรียง ฮอด (ทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอุทยานแห่งชาติออบหลวง แล้วเลี้ยวขวาต่อไปยังอำเภอแม่แจ่มโดยเส้นทางสาย ออบหลวง-แม่แจ่ม (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1088) จากอำเภอแม่แจ่มใช้เส้นทางสายแม่แจ่ม-ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1192) ขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ ที่ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009 กิโลเมตรที่ 38-39) ... ดูแผนที่เส้นทางที่ 2 (สีเขียว)

            

            เส้นทางที่ 3 ซึ่งเป็นเส้นทางสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่ค่อนข้างจะลำบาก โดยทางจากจังหวัดเชียงใหม่ตามเส้นทางถนนสาย เชียงใหม่-ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง จากอำเภอสันป่าตอง เลี้ยวขวา ตามถนน สายสันป่าตอง - บ้านกาด-แม่วิน (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1013) แล้วต่อด้วยเส้นทาง ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1284 หรือ เส้นทาง ร.พ.ช. ผ่านบ้านขุนวาง และขึ้นสู่ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009) ที่กิโลเมตรที่ 31 ใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ... ดูแผนที่เส้นทางที่ 3 (สีน้ำเงิน)


พื้นที่ท่องเที่ยวและนันทนาการที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะอยู่ตามแนวเส้นทางถนนสายจอมทอง – ยอดดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009) ถนนสายยอดดอยอินทนนท์ – แม่แจ่ม (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1192) และเส้นทางเดินป่าต่าง ๆ ซึ่งเพื่อนๆ สามารถเลือกไปตามสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติตามเส้นทางต่าง ๆ ได้ดังนี้ค่ะ 


           ตามแนวเส้นทางถนนสายจอมทอง – ยอดดอยอินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009)

          ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ ใครมาแล้วไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวไหนก่อนดีขอให้แวะที่นี่เอาฤกษ์เอาชัยก่อน เพราะเขามีการฉายสไลด์มัลติวิชั่นของอุทยานและเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์คอยให้บริการกับนักท่องเที่ยว ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หรืออีกชื่อว่า กม.31 ที่นี่มีเจ้าหน้าที่ไว้คอยบริการรับจองบ้านพักและสถานที่กางเต้นท์ สำหรับบ้านพักและที่กางเต้นท์จะอยู่อีกบริเวณหนึ่ง ทางเข้าอยู่ทางด้านขวามือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 200 เมตร 
           น้ำตกแม่ยะ น้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล ที่นี่เราสามารถกางเต้นท์พักแรมที่น้ำตกได้ แต่อย่าลืมติดต่อขอสถานที่กางเต้นท์กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ด้วยล่ะ, น้ำตกแม่กลาง เป็นจุดแรกของประตูเข้าสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ น้ำตกจากหน้าผาสูงประมาณ 100 เมตร ไหลพวยพุ่งมาสู่โกรกเขา ซึ่งเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีชื่อว่า วังน้อยและวังหลวง ใครไปเที่ยวช่วงฤดูฝนระวังหน่อยเพราะน้ำไหลแรงและขุ่นข้นมากจ้ะ
ดอยอินทนนท์

           ถ้ำบริจินดา ถ้ำขนาดใหญ่ อยู่ในเทือกเขาดอยอินทนนท์ ใกล้น้ำตกแม่กลาง ภายในถ้ำมีความลึกหลายกิโลเมตร เพดานมีหินงอกหินย้อยหรือที่ชาวเหนือเรียกว่า "นมผา" และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นมัสการ นอกจากนั้น ยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรงามยิ่งนัก ลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำทะลุแสงสว่างลอดเข้ามาได้ สามารถมองเห็นภายในได้ถนัด ก่อนจะถึงปากถ้ำจะมีป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่, น้ำตกวชิรธาร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ตัวน้ำตกอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร ตรงข้ามมีหน้าผาสูงชัน เรียกว่า "ผาม่อนแก้ว" หรือในภายหลังเรียกว่า "ผาแว่นแก้ว"
           น้ำตกสิริธาร  นอกจากความสวยงามของน้ำตกแล้ว ที่นี่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิดรวมทั้งปลาหายาก เช่นปลาค้างคาว ป่าบริเวณนี้เป็นป่าเต็งรังผสมสนเขาและป่าดิบแล้ง นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งสมุนไพรที่สำคัญอีกด้วย, น้ำตกสิริภูมิและสวนหลวงสิริภูมิ  เดิมเรียกว่า "เลาลึ" ตามชื่อของหมู่บ้านม้ง ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ ๆ น้ำตก ภายหลังเปลี่ยนชื่อตามพระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ปัจจุบัน มีการจัดภูมิทัศน์ สวนหลวงสิริภูมิ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ มีการจัดเก็บค่าเข้าชม ผู้ใหญ่คนละ 20 บาท เด็ก คนละ 10 บาท
           น้ำตกแม่ปาน จากธรรมชาติที่ลึกของป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ จะเห็นสายน้ำที่ไหลผ่านภูผาถึง 4 ชั้น ล้อมรอบด้วยป่าเขียวขจีตัวน้ำตกมีความสูงมากกว่า 100 เมตร สามารถมองเห็นได้จากจุดชมวิวระยะไกล จากบริเวณที่ตั้งหน่วยพิทักษ์ฯ อุทยานแห่งชาติ (น้ำตกแม่ปาน) หรือเดินเท้าไปตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผาสำราญ (น้ำตกแม่ปาน-ห้วยทรายเหลือง) ระยะทางประมาณ 400 เมตร
ดอยอินทนนท์

           พระธาตุนภเมทนีดลและพระธาตุนภพลภูมิสิริ เป็นพระธาตุที่ทางกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ร่วมใจสร้างถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา เมื่อปีพุทธศักราช 2530 และเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2535 โดยรอบบริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง 2 องค์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์โดยรอบได้อย่างชัดเจน พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือ มีฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา
ดอยอินทนนท์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น